บริษัท แบ็คยาร์ด ได้ทำการสำรวจข้อมูลความคิดเห็นจากโลกออนไลน์ ในการพูดถึงปัญหาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ในแง่มุมต่าง ๆ ของชาวกรุงเทพตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มาดูเลยกันว่า Insight ของสารพันปัญหาสุดคลาสสิคของชาวกทม. จะมีอะไรบ้าง
แนวทางการเก็บข้อมูล
เราใช้ LADDER: Social Analytic Platform ในการเก็บข้อมูลออนไลน์ โดยการค้นหาจากกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำประเภทการจราจร, น้ำท่วม, มลพิษ, ทางเท้า ฯลฯ กว่า 800 คำ ทำการเก็บข้อมูลจากช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กเพจของสำนักข่าว, พันทิป, เฟซบุ๊กเพจของผู้สมัครผู้ว่ากทม. ฯลฯ โดยเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ ม.ค. 64 - มี.ค. 65 เพื่อให้ได้ทั้งประเด็นค้างคาใจและสดใหม่ที่มีการพูดถึงกัน
เราได้ทำการเก็บข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยคอมเม้นท์, โพสต์, กระทู้, หัวข้อข่าวต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงในประเด็นที่สนใจ และเมื่อเจาะมาเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เราพบข้อมูลที่พูดถึงประเด็นต่าง ๆ คู่กับกทม.จำนวน 1.33 แสนชุด
3 ปัญหาหลักคู่ชาวกทม.
โจทย์ของเรื่องนี้ เราต้องการเปรียบเทียบประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงโดยชาวกทม. (ผู้ใช้งานออนไลน์ที่มีการพูดถึงปัญหาคู่กับกลุ่มคำที่สื่อถึงพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ ) เทียบกับประเด็นที่สื่อนำเสนอ (โพสต์ข่าวสาร) และประเด็นที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. มีการพูดถึง
จากข้อมูล จะเห็นว่า หากเราตัดประเด็นปัญหาอาชญากรรมที่สื่อนำเสนอมากเป็นอันดับ 1 จากข่าวที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในเขตกทม. ภาพรวมปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจราจร น้ำท่วม มลพิษ เป็น 3 ปัญหาแรกที่ชาวกทม. พูดถึง, สื่อนำเสนอข่าว และผู้สมัครผู้ว่ากทม. นำเสนอคู่กับนโยบาย แสดงให้เห็นว่าทั้ง 3 กลุ่มปัญหา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ปัญหาปากท้อง, พื้นที่สาธารณะ และโควิด-19 เป็นปัจจัยรองที่มองข้ามไม่ได้
จากกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวกทม.ที่เราทำการเก็บข้อมูลทั้งหมด นอกเหนือจาก 3 ปัญหาหลักที่ถูกพูดถึงจากภาคส่วนต่าง ๆ นั้น จะเห็นว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง และพื้นที่สาธารณะก็เป็นปัญหาที่คนกรุงเทพมีการพูดถึงผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน ผ่านการแสดงความคิดเห็น (คอมเมนท์) ผ่านช่องทางของสื่อที่นำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
และสำหรับในช่วงนี้ ประเด็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่คนกรุงเทพส่วนใหญ่จะพูดถึง “การกักตัว 14 วัน” ที่ส่งผลกระทบกับการทำมาหากิน และปัญหาปากท้องของผู้ป่วยที่ต้องกักตัว ถึงแม้ว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 จะเป็นนโยบายที่ไม่ได้กำหนดโดยหน่วยงานสังกัดกทม. แต่ก็เห็นได้ชัดว่าได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนกทม.ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าคิดว่าหน่วยงานของกทม. สามารถมีนโยบายสนับสนุนใด ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิดได้บ้าง
เจาะลึก “จราจร น้ำท่วม มลพิษ” 3 ปัญหาคู่บ้านคู่เมืองกทม.
โจทย์ต่อไปของเรา คือการเจาะลึก 3 ปัญหาหลักที่คนกทม. มีการพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งสาเหตุ ผลกระทบ รวมถึงพื้นที่ที่ชาวกทม.มักพูดถึง
1. ปัญหาจราจร
ปัญหาจราจร - รถติด : ลาดพร้าวยืนหนึ่ง รองลงมาคือเขตบางนา และบางซื่อ สาเหตุของปัญหามาจากการก่อสร้าง และการปิดถนนเพื่อซ่อมแซม นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงปัญหารถติดควบคู่กับปัญหารถเมล์ (จอดไม่ตรงป้าย) ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาทางเท้า
ปัญหาจราจร - ทางม้าลาย : จากการที่มีข่าวบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ปัญหาเรื่องทางม้าลายได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นจำนวนมาก คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ให้ความเห็น และแชร์ประสบการณ์ (ที่ไม่ดี) ในการใช้ทางม้าลาย โดยมีการพูดถึงเรื่องรถไม่หยุดให้ข้ามมากที่สุด ตามมาด้วยขับรถเร็วฝ่าไฟแดง และไม่มีไฟสัญญาณตามลำดับ โดยพื้นที่ที่มีการพูดถึงควบคู่กับปัญหา ได้แก่เขตพญาไท (สถานที่เกิดเหตุบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย), เขตราชเทวี และเขตบางเขนตามลำดับ
ปัญหาจราจร - สะพานลอย : สืบเนื่องจากปัญหาทางม้าลาย ปัญหาการใช้งานสะพานลอยก็ถูกชาวกทม.หยิบยกขึ้นมาพูดถึง โดยมากจะเป็นเรื่องของการออกแบบที่สูง ชัน แคบ ไม่เหมาะกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็กรวมถึงสะพานลอยอยู่ไกลจากบริเวณที่ประชาชนต้องการใช้งาน หรือแม้แต่บางพื้นที่ไม่มีสะพานลอยให้ใช้งาน โดยพื้นที่ที่มีการพูดถึงคู่กับปัญหาสะพานลอยมากที่สุดคือ บางเขน, ลาดพร้าว และดินแดงตามลำดับ
2. ปัญหาน้ำท่วม
“น้ำรอการระบาย” ยังเป็นวลีที่ชาวกทม. ยังคงมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของน้ำท่วมขัง แต่จากข้อมูลที่เราได้ เศษขยะ/พลาสติกอุดตัน และการก่อสร้าง/ทำถนน เป็นสาเหตุที่ชาวกทม.มองว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ และผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมคือจราจรติดขัด, ถนน/ทรัพย์สิน ได้รับความเสียหาย, และน้ำเน่าเสียตามลำดับ นอกจากนี้ ชาวกทม.ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของกทม. โดยมองว่าภาครัฐยังไม่มีการวางแผนรับมือกับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี ได้ดีพอ ทำให้พบว่าบางพื้นที่มีเครื่องสูบน้ำเสีย, หากุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำไม่เจอ และไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำว่าใช้งานได้อยู่หรือไม่ ทั้งก่อน และช่วงที่เกิดฝนตก สำหรับพื้นที่ที่มีการพูดถึงคู่กับปัญหาน้ำท่วมมากที่สุดคือ ดอนเมือง, ดินแดง, และลาดพร้าวตามลำดับ
3. ปัญหามลพิษ
ปัญหามลพิษ - ฝุ่น : การก่อสร้าง รถยนต์ และโรงงาน เป็นสาเหตุหลักที่ชาวกทม.มองว่าเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่น และมลภาวะในกทม. ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา มีการรณรงค์ลดมลพิษในกรุงเทพฯ หลายอย่าง และหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้, การรับบริจาคสิ่งของที่เก่าหรือเสื่อมสภาพ ฯลฯ และที่ชาวกทม. มองว่าเป็นการลดมลพิษ แต่เพิ่มภาระให้กับประชาชนคือ การลดการใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถสาธารณะแทน เพราะด้วยคุณภาพรถสาธารณะที่แย่ และค่ารถโดยสารที่แพงขึ้น สำหรับพื้นที่ที่มีการพูดถึงปัญหามลพิษคือ ประเวศ, ลาดพร้าว และหนองแขม/บางนา ตามลำดับ
ปัญหามลพิษ - น้ำเสีย : ปัญหานี้ ชาวกทม.มองไปถึงต้นตอว่าไม่มีการจัดการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้โรงงานปล่อยน้ำเสียโดยไม่มีการบำบัดอย่างถูกต้อง หรือบ้านเรือน ร้านค้าริมคลอง ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำโดยตรง และนอกจากนี้ ยังมองว่าเศษขยะอุดตันจนเกิดปัญหาน้ำท่วม ก็เป็นสาเหตุของน้ำเสียเช่นกัน โดยพื้นที่ที่มีการพูดถึงปัญหานี้มากที่สุด ได้แก่ มีนบุรี, ยานนาวา และสาทร สำหรับเขตสาทร ถูกพูดถึงเรื่องการจัดการน้ำเสีย คู่กับโครงการปรับพื้นที่สาธารณะบริเวณคลองช่องนนทรี
เจาะลึกปัญหาจากเสียงชาวกทม.ในแต่ละพื้นที่
จากหัวข้อที่แล้ว เราได้นำเสนอ 3 ปัญหาหลักคู่บ้านคู่เมืองของชาวกทม. ที่มีการถูกพูดถึงผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด โจทย์ถัดไปของเราคือ แล้วปัญหารอง ๆ ปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นทั่วกทม.มีอะไรบ้าง? เราจึงทำการขุดอินไซต์เพิ่มเติม เพื่อหาว่าปัญหารองต่าง ๆ มีการถูกพูดถึงที่ใดบ้างในกทม. พบว่า ปัญหาอาชญากรรมและสาธารณสุข ถูกพูดถึงทั่วพื้นที่กทม.
และจากข้อมูลที่พูดถึงปัญหาทั้งหมด 47,937 โพสต์ พื้นที่ 5 เขตแรก ที่มีการพูดถึงคู่กับปัญหาต่าง ๆ คือ อันดับ 1 เขตปทุมวัน (1,274 โพสต์), อันดับ 2 เขตประเวศ (1,196 โพสต์), อันดับ 3 เขตลาดพร้าว (1,152 โพสต์), อันดับ 4 เขตดอนเมือง (1,016 โพสต์) และอันดับ 5 เขตมีนบุรี (1,006 โพสต์)...เท่านี้ยังไม่พอ ทีมนักขุด insight ของเรา ยังได้ทำการเจาะลึกลงไปอีก โดยตั้งต้นจากกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับสารพันปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ข้อมูลดังนี้ สามารถดาวน์โหลดภาพเต็ม ๆ ได้ที่นี่ https://bit.ly/3Kee4jE
แนวทางการต่อยอดจากการสำรวจนี้
จากข้อมูลที่เราเก็บ เป็นเพียง Snapshot ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในประเด็นที่จำกัดเท่านั้น สำหรับแนวทางการต่อยอด เราสามารถเก็บข้อมูลประเด็นอื่น ๆ ที่ชาวกทม.ให้ความสนใจเพิ่มเติมได้ เช่นประเด็นเรื่องป้ายหาเสียง และนอกจากนี้ สามารถเก็บข้อมูลสุ้มเสียงของประชาชนในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีต่อผู้สมัครผู้ว่ากทม.รายบุคคลได้อีกด้วย
Comments