top of page

HIE เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อธุรกิจโรงพยาบาล


คุณอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเวลาที่เราเปลี่ยนโรงพยาบาลใหม่ เราถึงต้องไปขอข้อมูลประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม ซึ่งทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย ผลลัพธ์ปลายทางของ Health Information Exchange หรือ HIE จึงถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วประโยชน์ของ HIE ไม่ได้มีเพียงเท่านี้หรอกนะ เรามาดูกันดีกว่าว่าจริง ๆ แล้ว HIE สามารถทำอะไรได้อีกบ้าง


Health Information Exchange หรือ HIE คืออะไร?

Health Information Exchange หรือ HIE คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่ช่วยให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็วไร้รอยต่อ ในขณะเดียวกันข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยก็ยังคงมีความปลอดภัย ทั้งในแง่ของความเป็นส่วนตัวที่ผู้ป่วยต้องมีการให้ความยินยอม (Consent) ในการเข้าถึงข้อมูล และการเข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption) เพื่อทำให้ข้อมูลเป็นความลับ รวมไปถึงแง่ของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลจากการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Security) ด้วยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ


สถานพยาบาลจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการนำ HIE เข้ามาใช้ในองค์กร?

1. สามารถเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยได้

เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไม่ต้องผลักภาระให้ผู้ป่วยกลับไปติดต่อกับโรงพยาบาลเก่าเพื่อขอประวัติการรักษาอีกต่อไป ผู้ป่วยจึงได้รับความสะดวกสบาย ประหยัดทั้งเงินและเวลา และได้รับการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้เมื่อมีประวัติการรักษาแล้ว แพทย์ที่ทำการรักษาก็สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการรักษาได้ ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดขั้นตอนการตรวจซ้ำ หรือแม้แต่การจ่ายยาซ้ำซ้อน หรือยาที่แพ้ และลดการจ่ายยาผิดพลาด ซึ่งนอกจากจะทำให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย


2. สามารถเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

สถานพยาบาลสามารถเข้าถึงบิ๊กดาต้าจากผู้ป่วยที่ให้ความยินยอม ซึ่งอาจนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น การเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร การใช้ประโยชน์ทางการตลาด เป็นต้น


HIE อาจไม่ใช่แค่ HIE แต่เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต่อยอดโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แรกเริ่มเดิมที HIE อาจถูกพัฒนามาเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณมหาศาลเท่านั้น แต่แน่นอนว่ายังมีแนวทางอีกมากมายที่เราสามารถต่อยอด HIE ให้สามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูล MEDcury ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยเคสนี้

Healthix เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีข้อมูลของผู้ป่วยมากกว่า 20 ล้านคนจากสถานพยาบาลมากกว่า 8,000 แห่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลแล้ว Healthix ยังได้นำข้อมูลจากผู้ป่วยที่ให้ความยินยอมมาพัฒนาต่อยอดระบบเป็น Healthix Analytics ที่แสดงผลการวิเคราะห์ของข้อมูลทางคลินิก การพบแพทย์ และปัจจัยทางด้านสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น ระดับการศึกษา รายได้ครัวเรือน ความครอบคลุมของประกัน หรือแม้แต่การถือสัญชาติอเมริกา เป็นต้น โดยใช้อัลกอริธึมความเสี่ยงต่าง ๆ แล้วแสดงผลในรูปแบบ Dashboard รวมถึงตัวเลขคะแนนความเสี่ยง และรายงานเพื่อสนับสนุนการจัดการในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • การบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากรและผู้ป่วย (Population Health and Patient Risk Management) ที่ช่วยระบุว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเป็นโรคร้ายแรงสูงหรือเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่น หัวใจวาย เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

  • การจัดการการกลับเข้ามารับการรักษาซ้ำใน 30 วัน (30 Days Readmission Management) ที่ช่วยคาดการณ์แนวโน้มที่ผู้ป่วยจะกลับมาเข้ารับการรักษาซ้ำในฐานะผู้ป่วยในหรือกลับมาที่แผนกฉุกเฉินภายใน 30 วัน

พูดง่าย ๆ คือ Healthix Analytics เข้ามาช่วยทำให้สถานพยาบาลสามารถเข้าถึงผู้ป่วยในเชิงรุกและจัดการดูแลเพื่อป้องกันโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการมาตรวจที่แผนกฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้สถานพยาบาลยังสามารถเตรียมพร้อมตัวเองสำหรับการดูแลสุขภาพที่เน้นคุณค่า (Value-based care) ทำให้ผู้ป่วยพึงพอใจในการบริการและการรักษามากยิ่งขึ้นอีกด้วย ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรได้อย่างดีเยี่ยม


จากตัวอย่างที่เรายกมาพอจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้วใช่ไหมล่ะว่า HIE ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงผู้บริหารหรือทีมพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาลอีกด้วย และที่สำคัญที่สุดคือเราสามารถต่อยอด HIE เพื่อสร้างประโยชน์ได้อีกมากมายเลยล่ะ


อ้างอิงข้อมูลจาก

bottom of page