top of page

8 เคล็ด(ไม่)ลับในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย


ในปัจจุบันนี้หลาย ๆ โรงพยาบาลได้เปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยจากแผ่นกระดาษมาอยู่ในระบบออนไลน์กันเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดต้นทุนต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามเมื่อข้อมูลเหล่านี้อยู่บนออนไลน์ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดเหล่าโจรไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี วันนี้ MEDcury เลยขอมาแชร์ 8 ทริคที่จะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยให้ปลอดภัยจากการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย


1️⃣ ปฏิบัติตาม 3 กฎหมาย : HIPAA, GDPR และ PDPA

นอกจากกการมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลยังควรต้องมุ่งเน้นที่จะปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยอีกด้วย โดยมี 3 กฎหมายที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติพื้นฐานในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ได้แก่ HIPAA, GDPR และ PDPA เพื่อให้การจัดเก็บ การใช้ และการส่งต่อข้อมูลสุขภาพภายใต้การคุ้มครอง (Protected Health Information : PHI) เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นแล้วโรงพยาบาลอาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ หากอยากรู้จักกฎหมายเหล่านี้เพิ่มขึ้นสามารถอ่านได้ที่นี่เลย! 👉🏻 https://bit.ly/3RMYbYZ


2️⃣ ฝึกอบรมบุคลากร

หากเจ้าหน้าที่พนักงานทำงานผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่อแม้เพียงเล็กน้อย หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องข้อมูลของลูกค้า สิ่งเหล่านี้ก็อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ต่อโรงพยาบาลได้ การฝึกอบรมในประเด็นด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยให้แก่เจ้าหน้าที่พนักงานจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจสำหรับการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และเพิ่มความตระหนักในการจัดการข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างระมัดระวังได้อย่างเหมาะสม


3️⃣ จำกัดการเข้าถึงข้อมูลและยืนยันตัวตนทุกครั้งเมื่อต้องการเข้าถึงข้อมูล

การจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยให้เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการปกป้องข้อมูล เพราะเป็นการคัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออก และเปิดเผยข้อมูลให้เฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการจำกัดสิทธิ์แล้ว แต่การเข้าถึงแต่ละครั้งก็ยังควรมีการยืนยันตัวตนของผู้เข้าถึงอีกครั้งโดยใช้ Multi-Factor Authentication กล่าวคือนอกจากการเข้าถึงด้วย Username และ Password แล้ว ยังจะมีการตรวจสอบอีกครั้งโดยใช้สิ่งยืนยันตัวตนต่าง ๆ เช่น รหัส PIN คีย์การ์ด หรือแม้แต่การใช้ Biometrics อย่างการสแกนใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ หรือสแกนดวงตา เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่เข้าถึงนั้นเป็นตัวจริง ไม่ใช่การสวมรอยหรือแอบอ้าง


4️⃣ ควบคุมการใช้ข้อมูล

บางครั้งแค่จำกัดการเข้าถึงและยืนยันตัวตนอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการควบคุมกิจกรรมด้านข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายด้วย เช่น การอัปโหลดลงบนเว็บ การส่งอีเมลโดยไม่ได้รับอนุญาต การคัดลอกไปยังไดรฟ์ภายนอก หรือการพิมพ์เอกสาร เป็นต้น ซึ่งการจะควบคุมกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมนั้นจะต้องมีการทำ Data Discovering และ Data Classification เสียก่อน เพื่อสำรวจ หาความหมาย และจัดแบ่งข้อมูลออกเป็นกลุ่มตามการใช้งาน และมูลค่าของข้อมูลแต่ละชนิด เพื่อให้ระบบสามารถระบุได้ว่าข้อมูลนี้ควรได้รับการป้องกันในระดับใด


5️⃣ บันทึกประวัติการเข้าถึง

บันทึกประวัติการเข้าถึงก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้ใช้รายใดบ้างที่เข้าถึงข้อมูลนี้ และเข้าถึงเมื่อไหร่ จากอุปกรณ์ใด ที่ตำแหน่งใด หากมีการเข้าถึงที่ผิดปกติ โรงพยาบาลก็อาจเตรียมมาตรการป้องกันไว้ได้ทัน หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นก็สามารถใช้บันทึกนี้ในการชี้ตัวผู้ก่อเหตุ ระบุสาเหตุ และประเมินความเสียหายได้


6️⃣ เข้ารหัสข้อมูล

การเข้ารหัสข้อมูลหรือ Data Encryption ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องข้อมูลของโรงพยาบาล รวมไปถึงทุก ๆ องค์กรด้วย โดยข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสจะปลอดภัยทั้งในขณะที่ส่งต่อ หรือแม้แต่ในขณะที่ไม่ได้ใช้งาน ถึงแม้ผู้โจมตีทางไซเบอร์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่การถอดรหัสข้อมูลนั้นทำได้ยากมาก ๆ จนถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นการเข้ารหัสข้อมูลถือเป็น A MUST ที่โรงพยาบาลควรทำอย่างยิ่ง


7️⃣ ประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ

การประเมินความเสี่ยงเป็นประจำจะทำให้โรงพยาบาลสามารถระบุจุดอ่อนหรือจุดอ่อนในด้านต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการรักษาความปลอดภัยขององค์กร ความรู้และความเข้าใจของเจ้าหน้าที่พนักงาน ความน่าเชื่อถือและพฤติกรรมของพันธมิตรทางธุรกิจ และประเด็นอื่น ๆ ที่น่ากังวล การประเมินความเสี่ยงเป็นประจำเช่นนี้จะเป็นการป้องกันเชิงรุก และช่วยลดความเสี่ยงในการละเมิดข้อมูลและความเป็นส่วนตัวได้ ถือเป็นการหลีกเลี่ยงผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมาจากการละเมิดความเป็นส่วนหรือรั่วไหลของข้อมูล ตั้งแต่ความเสียหายต่อชื่อเสียง รวมไปถึงบทลงโทษจากหน่วยงานกำกับดูแล


8️⃣ สำรองข้อมูลแบบ Offsite

การสำรองข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่เพราะเพื่อกู้คืนความเสียหายในกรณีที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ แต่ยังสามารถกู้คืนความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างภัยธรรมชาติที่อาจกระทบต่อศูนย์จัดเก็บข้อมูลได้อีกด้วย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงควรมีการสำรองข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งการสำรองข้อมูลแบบ Offsite ถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ โดยโรงพยาบาลควรสำรองข้อมูลผ่านระบบที่ปลอดภัยรัดกุม และทริคที่สำคัญคืออย่าลืมที่จะสำรองข้อมูลบ่อย ๆ ด้วย เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุดนั่นเอง


เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับ 8 เคล็ด(ไม่)ลับที่เรานำมาฝาก รู้ประโยชน์กันไปขนาดนี้แล้ว อย่าลืมนำไปใช้กันด้วยนะ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดในการจัดเก็บข้อมูลให้กับโรงพยาบาลของคุณ และสำหรับใครที่อยากพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ สามารถพูดคุยกับพวกเรา MEDcury ได้ที่ 02-853-9131 หรือ support@medcury.health หรือกรอกแบบฟอร์มที่นี่ แล้วเราจะรีบติดต่อกลับหาคุณโดยเร็วที่สุด


สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับพวกเรา MEDcury ได้ที่


อ้างอิงข้อมูลจาก


bottom of page